พาราเบนเป็นสารกันเสียที่มักใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ เครื่องสำอางค์ใช้สารกันเสียเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื่อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่เป็นอันตรายเป็นการป้องกันการเสียของผลิตภัณฑ์และป้องกันเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์ สารเคมีพาราเบนที่ใช้ในวงการเครื่องสำอางค์นั้นมีอยู่หลายตัวเช่น methyl paraben, propyl paraben, butyl paraben และ ethyl paraben เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์มักใช้สารพาราเบนมากกว่าหนึ่งชนิด หรือใช้ร่วมกับสารกันเสียชนิดอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อโรคได้ อย่างกว้างขวาง เครื่องสำอางค์ที่มักใช้พาราเบนเป็นสารกันเสียอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์เมคอัพต่างๆ, ครีมทาผิว, ผลิตภัณฑ์ดูแลและจัดแต่งทรงผม, ผลิตภัณฑ์โกนหนวด และผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายเป็นต้น สารพาราเบนตัวนี้ทางองค์การอาหารและยาไม่ได้ระบุว่าเป็นสารต้องห้ามใน เครื่องสำอางค์ (ข้อมูลจาก US FDA website)
แต่ทั้งนี้ก็มีการกล่าวถึงความปลอดภัยของสารพาราเบนเมื่อนำมาใช้ใน ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ต่างๆที่สัมผัสกับร่างกายของเรา พบว่าสารพาราเบนบางตัวมีผลคล้ายกับฮอร์โมนในร่างกายของเราคือ เอสโตรเจนหรือฮอร์โมนเพศ แต่มีฤทธิ์ที่อ่อนมาก ในปัจจุบัน ข้อมูลจากผลการทดลองในห้องปฏิบัติการและในสัตว์ทดลอง พบว่า พาราเบนอาจส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านม และอาจส่งผลให้ชะลอการสร้างการสังเคราะห์ไฮยารูรอนและคอลลาเจนของผิวหนังน้อยลง รวมถึงส่งผลต่อกระบวนการแบ่งตัวของเคราติน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแก่ก่อนวัย (Aging)
อย่างไรก็ตาม การวิจัยยังไม่สามารถแปลผลหรือสรุปได้แน่นอน นอกจากนี้ ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการยังพบว่าฤทธิ์ฮอร์โมนนั้นสัมพันธ์กับขนาดโมเลกุลของ พาราเบน พาราเบนที่มีโมเลกุลขนาดเล็ก เช่น methyl paraben และ ethyl paraben จะมีความปลอดภัยสูงกว่าจึงกำหนดให้ใช้ปริมาณไม่เกิน 8g ต่อ 1 kg ของเครื่องสำอางค์และพาราเบนแต่ละชนิดไม่ควรเกิน 4g ต่อ 1 kg ของเครื่องสำอางค์ ส่วนพาราเบนที่มีโมเลกุลใหญ่ขึ้นมาเช่น propyl-และ butyl paraben ให้มีในส่วนประกอบได้ไม่เกิน 1.9g/kg
โดยผู้บริโภคสามารถสังเกตได้ง่ายจากฉลากข้อมูลส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์ซึ่งจะมีส่วนประกอบที่เป็นสารพาราเบนชนิดต่าง ๆ ระบุไว้
ผู้เขียน:
1. อ.ดร.ณัฐธิดา โชติช่วง, อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. น.ท.หญิง พญ. วรรณรวี ไทยตระกูล, โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
อ้างอิง:
1. US FDA. Parabens in Cosmetics.
Website: https://www.fda.gov/cosmetics/productsingredients/ingredients/ucm128042.htm. Access: 31 August 2018.
2. The scientific opinions of the independent European Scientific Committee on Consumer Safety 2011.
3. Wrobel and Gregoraszczuk. Toxicology Letters. 2014. 23: 375-381.
4. Osuna et al. J. Appl. Toxicol. 2017. 37: 417-425.
5. Sun et al. Sci. Rep. 2016. doi: 10.1038/srep25173.
6. Ishiwatari et al. J. Appl. Toxicol. 2007. 27: 1-9.